ผู้ช่วยอธิการบดีฯรุดหารือผู้นำชุมชนละแม หวังแก้ปัญหาและพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต
ตั้งเป้าหาช่องทางการตลาดพร้อมผลักดันการประชาสัมพันธ์ ทำเว็บไซต์ให้ ตลาดใต้เคี่ยม เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว ผุดโครงการต่อยอดการบริหารจัดการขยะเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม
…..เมื่อเวลา 15:30 น. ของวันที่ 29 ตุลาคม 2560 ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ และคณะ ได้เดินทางไปยังตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร เพื่อร่วมหารือกับผู้นำชุมชน การวิเคราะห์หาช่องทางการตลาดให้กับชาวชนละแม โดยมี นายนรินทร์ พันธ์เจริญ กำนันตำบลละแมให้การต้อนรับ
…..ทั้งนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้สนทนาเรื่องปัญหาและอุปสรรค การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์และช่องทางการขยายตลาดใต้เคี่ยมที่ทางผู้นำต้องการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาและยกระดับ โดยดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ได้กล่าวว่า “จากที่ได้ร่วมพูดคุยและร่วมกันวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆในหลายๆมิติของชาวชุมชนละแมพบว่า ตลาดใต้เคี่ยมมีวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติน่าสนใจมากมาย ซึ่งชาวชุมชนได้รวมตัวกันเปิดตลาดเพื่อการซื้อขายภายในชุมชนแต่ช่องทางการขยายตลาดที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับชาวชุมชนนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพดังที่ได้ตั้งใจไว้ในตอนเริ่มต้น ดังนั้นจึงมีความคิดว่าควรจะมีการประชาสัมพันธ์โดยการจัดทำเว็บไซต์ในหลายๆมิติ เช่น มีการนำเสนอรูปแบบตลาดใต้เคี่ยม แนะนำผลิตภัณฑ์แปรรูปตามธรรมชาติ นอกจากนี้ควรนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวสถานที่สำคัญของตำบลละแมด้วย ทั้งนี้ได้ขอความอนุเคราะห์บุคลากรในพื้นที่ชุมชน จำนวน 5 คน เพื่อการอบรมให้ความรู้เรื่องเว็บไซต์ เนื่องจากข้อมูล ข่าวสาร รูปภาพ ของชุมชนแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวต้องอัพเดทอยู่เสมอดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยฯสร้างเว็บฯให้จึงอยากชาวชุมชนดูแลด้วยตัวของเขาเองและเมื่อมีปัญหามหาวิทยาลัยจะเข้ามาช่วยเหลือ นอกจากนี้มีความคิดต่อไปอีกว่าควรจัดทำบรรจุภัณฑ์หีบห่อให้เป็นอัตลักษณ์ของชาวชุมชน เพื่อเป็นการขยายสู่ตลาดต่างจังหวัดในรูปแบบตลาด Online นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะที่มีจำนวนมากอันเนื่องมาจากชาวชุมชนไม่มีความรู้ด้านการแยกทิ้งขยะและถังขยะมีจำนวนน้อย ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง”
…..ด้าน นายนรินทร์ พันธ์เจริญ กำนันตำบลละแม เผยว่า ชุมชนท้องถิ่นละแม “อยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์ และหาช่องทางการขยายตลาดเพื่อการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่า ซึ่งวัตถุดิบของชุมชนละแมจะเน้นความเป็นธรรมชาติเช่น พืช ผัก และผลไม้ในท้องถิ่น นอกจากนี้ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชุมชนอยากให้ช่วยในเรื่องของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น”
…..ต่อข้อซักถามเรื่องการต่อยอดให้กับชุมชนท้องถิ่นละแมในเรื่องใด “ตามที่ได้พูดคุยกับกำนันนรินทร์ ซึ่งได้ข้อข้อสรุปว่า มหาวิทยาลัยฯจะดำเนินการช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์และวิเคราะห์ช่องทางการตลาด พร้อมทั้งจัดทำเว็บไซต์เพื่อการขยายตลาดและแนะนำสถานที่แหล่งท่องเที่ยวให้กับชุมชน โดยเหตุผลที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมคือต้องการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีความคิดต่อยอดเรื่องการบริหารจัดการขยะและการผลิตปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตด้วย”
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี