ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา และทรงมุ่งหมายให้การศึกษาสร้างคนไทย ให้มีคุณลักษณะ 4 ประการ ได้แก่ มีทัศนคติที่ดี และถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง มีอาชีพ มีงานทำ และเป็นพลเมืองดี มีระเบียบวินัย อันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ กอปรกับการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ได้ทรงติดตามและทอดพระเนตรเห็นศักยภาพอย่างเข้าพระทัยลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งผลิตครูที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งความรู้วิชาการ และเป็นปราชญ์แห่งการพัฒนาท้องถิ่น อันเป็นกลไกสำคัญที่จะสามารถเข้าถึงต้นตอแห่งปัญหาของพสกนิกรของพระองค์ในแต่ละท้องที่ และสามารถดำเนินการแก้ไข และพัฒนาอย่างมุ่งเป้าเพื่อให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน จึงทรงมอบหมายภารกิจให้องคมนตรีแนะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศได้ทราบถึง พระอัจฉริยภาพ จึงน้อมนำพระราโชบาย ด้านการศึกษา มาจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย ราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ที่สอดคล้องกับภารกิจในการจัดตั้งมหาวิทยาลัย และได้ทบทวนแผนฯ ฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งเป้าหมาย กลยุทธ์ และตัวชี้วัดที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ และพร้อมด้วยคุณลักษณะทั้ง 4 ประการ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาตาม พระราโชบาย มุ่งผลิตครูคุณภาพและพัฒนาท้องถิ่นทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการศึกษา ตามสภาพปัญหา และความต้องการที่แท้จริงของชุมชน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ขอให้ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็น “คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน” มุ่งมั่น และตั้งใจปฏิบัติงานตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏที่อยู่ในมือท่านฉบับนี้ และจะต้องคำนึงถึงบริบทที่แท้จริง ของพื้นที่บริการที่แต่ละมหาวิทยาลัยรับผิดชอบในการจัดทำแผนงานโครงการและกิจกรรมที่สอดรับกัน โดยมีการวิเคราะห์ และประเมินอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสาร การบูรณาการและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งภายในมหาวิทยาลัย นอกมหาวิทยาลัย และระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยกันเอง ดังนี้แล้วจึงนับได้ว่าเป็นการรวมสรรพกำลังของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้ อย่างเต็มภาคภูมิ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสา ธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราโชบายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศ จัดทำยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงาน กับจังหวัดในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่รับผิดชอบ ในการดำเนินงานประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง ได้ปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กับผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง จึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย ในการดำเนินงานของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มียุทธศาสตร์การดำเนินระดับพื้นที่ จำนวน 3 แห่ง คือ 1) บ้านห้วยเสียด ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก 2) บ้านเกาะพะลวย ตำบลอ่างทอง อำเภอ เกาะสมุย และ 3) บ้านคลองเรือ ตำบลขุนทะเล อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จากแผนบริบทมหาวิทยาลัย ราชภัฏสุราษฎร์ธานี จำนวน 3 แห่ง คือ 1) บ้านภูริน ตำบลคลองสระ อำเภอกาญจนดิษฐ์ 2) บ้านห้วยทราย ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม และ 3) บ้านพุมเรียง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดชุมพร ตำบลด่านสวี อำเภอสวี และจังหวัดระนอง ตำบลนาคา ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ
การพัฒนาท้องถิ่น
เป้าหมาย
- ด้านเศรษฐกิจ
- ด้านสังคม
- ด้านสิ่งแวดล้อม
- ด้านการศึกษา