งานบริการวิชาการฯคล้องแขนเครือข่าย ลงพื้นที่พุมเรียง ผุดโครงการจัดตั้ง “พุมเรียงโมเดล” ผนึกกำลังเครือข่าย ยกระดับมิติการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

 วนช. จัดให้ ผลิตป้ายสื่อความหมายชุมชนระบบ Online ส่องประวัติศาสตร์ของพุมเรียง ตามรอยท่านพุทธทาส ด้านหอการค้าจังหวัดฯ ร่วมหนุน โปรเจคเสร็จพร้อมดันเต็ม Stream

​​…..เมื่อเวลา 09.30 น. (7 มกราคม 2561) งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น นำโดย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ และคณะ ลงพื้นที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยผู้อำนวยการและอาจารย์จากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ตัวแทนคณาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว และตัวแทนคณาจารย์จากคณะวิทยาการจัดการ พร้อมทั้ง ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองและงานภูมิทัศน์และสถาปัตย์ นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมเดินทางลงพื้นที่ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ คณะทำงานได้ร่วมพูดคุยกับแกนนำชุมชนพุมเรียง นำโดยนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลพุมเรียง ในเรื่องของการยกระดับมิติการท่องเที่ยวในด้านต่างๆ ณ อาคารศูนย์ท่องเที่ยวและเฝ้าระวังภัยพิบัติทางทะเล เทศบาลตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
​​…..โดยแกนนำชุมชนได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ความต้องการในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตำบลพุมเรียงว่าอยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ช่วยเหลือในการพัฒนาช่องทางการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบถึงที่มาความสำคัญของประวัติศาสตร์ชุมชน บริบทวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และที่สำคัญการจัดทำเรื่องราวต่างๆของพระธรรมโกศาจารย์ หรือรู้จักในนาม ท่านพุทธทาสภิกขุ “ตามรอยพระพุทธทาส”อันหมายถึงต้นกำเนิด สถานที่บวชครั้งแรก หรือการสร้างโรงเรียนท่านพุทธทาส นอกจากนี้กลุ่มแกนนำชาวพุมเรียงได้เสนอให้จัดทำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในมิติของการเกื้อกูลกันในวิถีไทยพุทธ – มุสลิม โดยสื่อให้เห็นว่าศาสนาไม่ได้เป็นกำแพงของการอยู่ร่วมกัน
​​ในส่วนของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมพุมเรียง อาหารทะเล และอาหารพื้นบ้าน เส้นทางการเดินเรือท่องเที่ยวเกาะเสด (หรือเกาะเสร็จ) เยี่ยมชม ปลาพะยูน หรือ ธนาคารปูม้าก็เป็นจุดแข็งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ทั้งนี้ทางชุมชนมีความพร้อมที่จะให้ข้อมูลอย่างละเอียดและสะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมให้เห็นถึงคุณค่าในการยกระดับในมิติต่างๆ
​​​​…..ด้าน ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้ให้ความเห็นว่า มหาวิทยาลัยฯมีความยินดีตอบรับความต้องการของชุมชน เพราะถือว่าราชภัฎสุราษฎร์ฯเป็นมหาวิทยาลัยของชาวพุมเรียงเช่นกัน จากข้อมูลที่ได้พูดคุยกับผู้แทนและแกนนำชุมชนพุมเรียง คณะทำงานได้ให้ความเห็นว่าจะต้องดำเนินการจัดทำโครงการจัดตั้ง “พุมเรียงโมเดล”โดยมีเทศบาลตำบลพุมเรียงและชาวพุมเรียงเป็นเจ้าภาพ และมหาวิทยาลัยพร้อมทั้งเครือข่ายคณะทำงานจะเป็นที่ปรึกษาและช่วยเหลือในเรื่องการจัดทำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในช่องทางสื่อต่างๆ ซึ่งในคณะทำงานมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านการจัดทำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวของมหาวิทยาลัยฯ คือ อาจารย์เกสสิณี ตรีพงษ์พันธุ์ จากวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว จะช่วยในการจัดทำข้อมูลเป็นเรื่องราวต่างๆตามที่ชุมชนได้เสนอมา ซึ่งอาจารย์มีข้อมูลเบื้องต้น บริบทความเป็นมาของตำบลพุมเรียงอยู่แล้ว เพียงแค่ปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น เช่นข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรมต้องขอความร่วมมือจากเทศบาลตำบลพุมเรียงและสำนักศิลปและวัฒนธรรม โดยอาจารย์อนุรัตน์ แพนสกุล เป็นเจ้าภาพให้ข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ ลักษณะของช่องทางการนำเสนออาจจะเป็นในรูปแบบของการทำป้ายสื่อความหมายชุมชน Online story ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งของการทำข้อมูลออนไลน์ที่เสนอเรื่องราวได้อย่างเป็นรูปธรรม
​​​…..นอกจากนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ได้เผยถึงกระบวนการดำเนินงานในระยะต่อไปว่า หลังจากนี้มหาวิทยาลัยโดยคณะทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นตำบลพุมเรียงจะต้องเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเพราะมีการเปลี่ยนของพลวัตตลอดเวลา โดยในส่วนต่อไปเมื่อได้ข้อมูลที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทางคณะทำงานจะร่วมกันหารือเพื่อตกผลึกทางความคิดว่ามิติในการขับเคลื่อนให้ไปถึงพุมเรียงโมเดลจะเป็นไปแนวทางใด ซึ่งได้กำหนดไว้เมื่อมีความครบถ้วนของข้อมูล จึงเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญทางด้านผังเมืองและสถาปัตยกรรม โดยมี ดร.นรา พงษ์พานิช อาจารย์จากสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จะเป็นที่ปรึกษาและดำเนินการเรื่องผังเมืองการท่องเที่ยวชุมชนพุมเรียง และเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้น ทางหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนช่วยเหลือและสนับสนุนการท่องเที่ยวของพุมเรียงโมเดลด้วย
​​​…..ด้าน นายรัฐธรรม แสงสุริยัน ผู้แทนจากหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ถ้าพุมเรียงโมเดลสำเร็จออกมาอย่างเป็นรูปธรรม หอการค้าจังหวัดฯก็ยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่เพราะมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในมิติต่างๆของพุมเรียง แต่อยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การท่องเที่ยวของพุมเรียงต้องมีอัตลักษณ์ชุมชน เช่น สีของบ้านเรือน อาคารสถานที่ต่างๆต้องคงความสถาปัตย์แบบดั้งเดิมไว้ นอกจากนี้การสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐในปี 2561 จะมีหลักการและเหตุผลว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวต้องสอดคล้องต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว และประเด็นสุดท้ายที่อยากจะเสริมคือเรื่องของอัตราราคาสินค้าของฝากต้องมีหลายระดับให้นักท่องเที่ยวพิจารณาและสามารถเลือกซื้อได้
​​​…..คณะทำงานและแกนนำชุมชนพุมเรียง ได้ลงความเห็นว่าควรมีการพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปของการดำเนินงานในระยะต่อไปรวมทั้งพิจารณาข้อมูลการท่องเที่ยวฉบับสมบูรณ์ โดยจะร่วมพูดคุยอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลพุมเรียง และคาดว่าพุมเรียงโมเดลจะเกิดขึ้นภายในเดือนมิถุนายน 2561 นี้

อาซีด ทิ้งปากถ้ำ ภาพ
เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
ฝ่ายบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Similar Posts