มรส.ฟอร์มทีมชุดใหญ่เตรียมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาท้องถิ่น 3 จังหวัด

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการดันเต็มลูกสูบ เตรียมผู้แทนจากทุกคณะลงพื้นที่เป้าหมายสำรวจความต้องการพร้อมประเด็นการวิจัยเพื่อนวัตกรรม เชื่อมั่นตอบสนองนโยบายจังหวัดลดความทับซ้อนแผนการดำเนินงาน

เมื่อเวลา 14.30 น. (11 มีนาคม 2563) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่นดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการฝ่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาท้องถิ่น ณ ห้องเฟื่องฟ้า 4 ชั้น 4 อาคารสำนักงานอธิการบดี โดยมี ผศ.ดร.เสน่ห์ บุญกำเนิด รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเป็นประธานในการประชุม ทั้งนี้ ได้มีกรรมการฝ่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ จากคณะต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน เช่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะครุศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะพยาบาลศาสตร์ และ วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว พร้อมด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนา กองการเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอธิการบดี

โดยประธานที่ประชุมได้เผยว่า หลังจากที่ได้มีการประชุมร่วมกับจังหวัดและได้ผลสรุปการบูรณาการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบาย ในพื้นที่ 3 จังหวัดตามจุดเน้นการพัฒนาจังหวัดเป้าหมาย ซึ่งได้วิเคราะห์และสรุปว่าประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดระนอง จะเน้นการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพเพื่อเชื่อมโยงในอาเซียน เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำแร่และสปาให้ได้มาตรฐาน ส่วนประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชุมพรจะมุ่งเน้นการพัฒนาการเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และเชื่อมโยงการพัฒนาในระดับภูมิภาค และในส่วนของประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร/การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยมีความคิดว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯดังกล่าวจะต้องลงพื้นที่เพื่อพิจารณาสภาพความเป็นจริงและที่สำคัญทางคณะทำงานสามารถใช้องค์ความรู้ตอบโจทย์ท้องถิ่นเช่นการบูรณาการการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตรและการทำวิจัย

ด้านผศ.โสภณ บุญล้ำ คณะกรรมการฝ่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ผู้แทนจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้ความเห็นว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคชุมชน ภาควิชาการ และภาคีที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยกำหนดแผนและนโยบายพร้อมทบทวนแผนการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกันและเพิ่มเติมรายละเอียดข้อมูลส่วนที่ขาดหาย นอกจากนี้ต้องสำรวจความต้องการของคนในพื้นที่เพื่อให้ได้ประเด็นการวิจัยตอบโจทย์นโยบายของจังหวัดด้วย

ขณะที่หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้ชี้แจงข้อสรุปจากที่ประชุมว่า งานบริหารวิชาการฯจะนำเสนอผลจากการประชุมดังกล่าวเสนอให้มหาวิทยาลัยได้รับทราบและพิจารณาเพื่อการดำเนินงานในระยะต่อไปคือ การจัดทำแผนดำเนินการลงพื้นที่ซึ่งจะต้องประสานไปยังคณะกรรมการทุกคณะ โดยที่ประชุมลงความเห็นว่าคณะทำงานจะต้องลงพื้นที่เพื่อให้ได้รายละเอียดความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และดำเนินการพัฒนาปรับปรุงเป็นระยะๆพร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพที่ประชาชนในท้องถิ่นมีความต้องการ

เยาวลักษณ์ กากแก้ว รายงาน
อาซีด ทิ้งปากถ้ำ  ภาพ

Similar Posts